วันที่ 4 ก.พ.2578 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงพยาบาลเชียงราย ราม ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย พร้อมผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือรามคำแหงได้ทำการเปิด “ศูนย์มะเร็งเชียงราย ราม” ขึ้น โดยถือเป็นศูนย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งแห่งที่ 2 ของ จ.เชียงราย หลังจากที่ในอดีตผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งในพื้นที่ จ.เชียงราย และใกล้เคียงต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ซึ่งมีระยะทางไกล และต่อมาทางโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้เปิดศูนย์รังสีขึ้นเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน และรับรักษาโรคมะเร็งแบบครบวงจร ปรากฎว่ามีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก เข้ารับการรักษา จึงทำให้โรงพยาบาลในเครือรามคำแหงตัดสินใจเปิดศูนย์มะเร็งเชียงราย ราม เพื่อรองรับผู้ป่วยดังกล่าว โดยเป็นอาคารชั้นเดียวและมีบุคลาการทางการแพทย์ที่พร้อมสรรพพร้อมเครื่องมือครบครัน เช่น เครื่องเอ๊กซเรย์ เครื่องฉายรังสีมูลค่า 100 ล้านบาท ฯลฯ ซึ่งพิธีเปิดศูนย์ดังกล่าว ยังตรงกับวันมะเร็งโลกอีกด้วย
โดยนายแพทย์ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแห่งประเทศไทย นายธฤต ชื่นอิ่ม กรรมการบริหารโรงพยาบาลรามคำแหง นายแพทย์วัชระ สนธิชัย กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลหริภุญชัย ราม ฯลฯ ต่างระบุตรงกันว่า ในปัจจุบันอัตราการพบผู้ป่วยโรคมะเร็งมีเพิ่มมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและปัจจัยต่างๆ ขณะที่ภาคเหนือมีเพียง จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำปาง เท่านั้นที่รักษาครบวงจร ทำให้ประชาชนต้องรอคอยการรักษาบางครั้งนาน 3-4 เดือน ทำให้เสี่ยงต่อการที่มะเร็งจะลุกลาม ขณะที่มะเร็งเป็นโรคที่จำเป็นต้องรักษาให้รวดเร็ว ดังนั้นศูนย์มะเร็งเชียงราย ราม จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญของผู้ป่วยใน จ.เชียงราย พะเยา แพร่และน่าน นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีเทคโนโลยีการรักษาในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านที่ติด จ.เชียงราย ทั้งเมียนมาและ สปป.ลาว จึงเป็นโอกาสจะรับการรักษาให้กับชาวต่างประเทศ และแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลรัฐอีกด้วย
ทางด้านนายแพทบ์วัชระ เตชะธีราวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงราย ราม กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.เชียงราย มีการรักษามะเร็งครบวงจรอยู่ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นของภาครัฐเพียงแห่งเดียว และพบว่ามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ขณะที่เครื่องมือรักษา เช่น เครื่องฉายแสง ฯลฯ มีอยู่อย่างจำกัดเพียงเครื่องเดียว ดังนั้นโรงพยาบาลในเครือรามคำแหง จึงได้ทุ่มงบประมาณเพื่อรับบริการครอบคลุมการตรวจ วินิจฉัย รักษาทั้งฉายแสงและให้คีโม รวมถึงการฟื้นฟู
ปรากฎว่าหลังการเปิดศูนย์ฯ ได้มีผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางมารับการรักษาแทบจะทันทีจำนวนหลายรายแล้ว ซึ่งยืนยันว่าศูนย์มะเร็งเชียงราย ราม มีศักยภาพทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ มีเครื่องรังสีรักษาโดยเครื่องมือทางการแพทย์ที่เรียกว่า Radiation Therapy (RT) ได้เดือนละ 60-80 ราย สามารถรักษาโรคมะเร็งได้อย่างครบวงจรทั้งแบบระยะต้นและเป็นระยะประคับประคองได้อีกด้วย
นายแพทย์วัชระ กล่าวอีกว่า จากความแออัดของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทางโรงพยาบาลเชียงราย ราม จึงได้ยื่นของรับบริการผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง ซึ่งเดิมผู้ป่วยเหล่านี้จะเข้ารับการรักษามะเร็งที่ จ.ลำปาง ต่อมาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเข้ารับการรักษาทีโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์เพียงแห่งเดียวใน จ.เชียงราย
ดังนั้นหากการยื่นขอได้รับการอนุมัติโรงพยาบาลเชียงราย ราม ก็จะถ่ายเทผู้ป่วยที่เคยเดินทางไปล้นโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ให้ไปรักษาที่ศูนย์มะเร็งเชียงราย ราม ของโรงพยาบาลเชียงราย ราม ได้ต่อไป.