เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 นายประวิทย์ ใจคำ หัวหน้าอุทยานเวียงโกศัย กล่าวว่าการจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ เป็นวิธีการจัดการกับปัญหาไฟป่าวิธีหนึ่ง มีวัตถุ
ประสงค์เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิง (ใบไม้แห้ง,หญ้าแห้ง และอื่นๆที่ติดไฟง่าย) และเพื่อตัดตอนตัดความต่อเนื่องของเชื้อเพลิงในพื้นที่เป้าหมาย โดยใช้วิธีชิงเผา (Early Burning) ซึ่งไฟและควันจากการชิงเผา จะต่างจากไฟป่า เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ให้ลุกลามสร้างความเสียหายต่อผืนป่า โดยจะให้ไหม้ในพื้นที่ที่กำหนด (พื้นที่นี้ต้องไม่มีทรัพยากรสำคัญขึ้นอยู่ ไม่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซาก ซึ่งถึงเราไม่ดำเนินการก็จะมีคนไปแอบเผา และเมื่อไหม้โดยปราศจากการควบคุมแล้ว จะลุกลามสร้างความเสียหายให้กับผืนป่าและสัตว์ป่า รวมถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อย่างมากมายมหาศาล)
“ไฟป่า คือ ไฟที่ไหม้โดยปราศจากการควบคุม ไร้ทิศทาง สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล หากไม่สามารถควบคุมได้ทันเวลา”
หน.อช.เวียงโกศัย บอกอีกว่า การจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีการชิงเผานั้น จะไม่ใช่การเผาป่าทั้งผืน โดยไม่มีการควบคุม แต่จะมีการคัดเลือกพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซาก พื้นที่เสี่ยงที่ประเมินแล้วว่า หากไม่เข้าไปจัดการควบคุมแล้วเกิดมีไอ้โม่งเข้าไปแอบเผา มันจะควบคุมและดับยาก แล้วจะลุกลามสร้างความเสียหายต่อผืนป่าส่วนใหญ่ ซึ่งจะต้องไม่ใช่พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อนในด้านอื่นๆ หลักๆจะเน้นพื้นที่ติดชุมชน ป้องกันไฟจากด้านนอกลามเข้าไปในป่าใหญ่
“และอีกประเด็นที่ต้องคำนึงถึง วันที่ดำเนินการ อากาศต้องเปิด ระบายอากาศได้ดี และค่าอากาศวันนั้นต้องไม่อันตรายต่อชีวิตด้วย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
“บางทีเราก็ต้องยอมเสียพื้นที่เล็กๆ ให้ถูกไหม้ไป (การเผาแนวกันไฟ เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิง และลดความต่อเนื่องของเชื้อเพลิง) ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาป่าผืนใหญ่
“วันนี้จึงได้ร่วมกับพี่น้องบ้านปางงุ้น ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ทำการจัดการเชื้อเพลิง บริเวณโด่แม่อาง ซึ่งเป็นพื้นที่ล่อแหลม ติดชุมชน และเป็นพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซาก โดยตั้งใจว่าอย่างน้อยๆ จุดนี้ ก็ไม่มีมือมืดแอบมาจุดไฟเผา จนลุกลามไปทั่ว เพราะเราทำแนวดำกันไว้เป็นจุดๆแล้ว ได้ขออนุมัติดำเนินการจากกรมฯแล้ว และดำเนินการภายใต้วิธีการที่กรมฯกำหนด
ธีรพงษ์ ธงออน/แพร่ 061-595-5297