มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะวิทยาศาสตร์ ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และ พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการพัฒนาทักษะการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้ง ยกระดับสถาบันการศึกษาในระดับพื้นที่สู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ติดตาม วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการแจ้งเตือนเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ณ ชั้น 7 ห้อง Confidential สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เมื่อวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะวิทยาศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิทยาการข้อมูลและนวัตกรรมซอฟท์แวร์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีสามแขนงวิชาคือ แขนงวิชาเทคโนโลยีเครือข่ายและความมั่นคงทางไซเบอร์ แขนงวิชาเทคโนโลยีดิจิทัล แขนงวิชาเทคโนโลยีเกมและดิจิทัลคอนเทนต์ ทั้งนี้ การจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านการส่งเสริมการพัฒนาทักษะการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมการผลิตกำลังคนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ซึ่งกำลังขาดแคลน ช่วยพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาให้มีความพร้อมต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้พร้อมดำเนินการขยายผลการพัฒนากลุ่มเป้าหมายให้มีสมรรถนะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับสากล และช่วยพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในกลุ่มเป้าหมาย สู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติดตาม วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการแจ้งเตือนเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในพื้นที่อีสานใต้
โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะมีการดำเนินงานและกิจกรรมร่วมกัน ได้แก่ การร่วมกันสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาด้านความมั่นคงปลอด ภัยไซเบอร์ เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับพื้นที่ การร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับพื้นที่ โดยมีองค์ประกอบทั้งหน่วยงานด้านการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคีด้านเทคโนโลยี การร่วมกันสนับ สนุนการให้คำปรึกษากับหน่วยงานในระดับพื้นที่ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนสร้างความเข้มแข็งในระดับพื้นที่ การร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับ บุคลากรของรัฐ ผู้ปฏิบัติงานหน่วยงานท้องถิ่น ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข บุคลากรด้านการศึกษา เป็นต้น และการร่วมกันสนับสนุนการทดสอบสมรรถนะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับสากล เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีสมรรถนะตามมาตรฐานสากล.
Discussion about this post