ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศบาลตำบลหนองโนหนุนชาวบ้านป่าติ้ว อำเภอกระนวน จ.ขอนแก่น รวมกลุ่มปลูกผักส่งขายตลาด มีผักสดทั้งปี พ่อค้าแม่ค้ามารับถึงที่ สร้างรายได้งาม ประสานหน่วยงาน เสริมอุปกรณ์การผลิตเตรียมพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอ นายสุรชัย บุษราคัม นายกเทศมน ตรีตำบลหนองโน เผยหลังจากลงพื้นที่แปลงปลูกผักชุมชนบ้านป่าติ้วว่า “เริ่มต้นของการปลูกผักของบ้านป่าติ้วเริ่มจากการปลูกไว้เพื่ออยู่ เพื่อกินในครัวเรือ จากนั้นได้มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเพื่อนำสินค้าผักสดออกจากหน่าย ทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนดีขึ้นเฉลี่ยวันละ 300-500 บาท
ดังนั้นเทศบาลตำบลหนองโนจึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้จึงได้จัดสรรงบประมาณบางส่วนมาเสริม แปลงผักทั้ง 2 แหล่งของหมู่บ้านบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ซึ่งมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่ก็ยังขาดวัสดุอุปกรณ์ โดยเฉพาะถังเก็บน้ำที่เป็นถังสูง เพื่อส่งน้ำให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ในการทดน้ำยังขาดแคลนอยู่ โดยเทศบาลสามารถจัดสรรงบประมาณมาเพียงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท ยังไม่เพียงพอพร้อมกันนั้นยังได้ทำการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมาช่วยสนับสนุนชาวบ้านด้วยอีกทาง ซึ่งการปลูกผักของชาวบ้านเป็นการปลูกแบบปลอดสารเคมี ถือว่าเป็นผักเพื่อสุขภาพ จึงได้รับความนิยมในท้องตลาด”
ขณะที่นางสีนวน สีมาตร อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ 2 บ้านป่าติ้ว ต.หนองโน ผู้นำกลุ่มปลูกผักเพื่อสุข ภาพบ้านป่าติ้วเผยว่า “การรวมกลุ่มปลูกผักของชาวบ้าน เริ่มจากการที่ทางโรงเรียนบ้านป่าติ้วมีโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน แต่ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการ จึงได้ให้กลุ่มของแม่บ้านบ้านป่าติ้วมาจับกลุ่มรวมกัน ใช้พื้นที่สาธารณที่มีอยู่ ทั้ง 2 ที่ ทำการแบ่งเป็นแปลง ๆ ละ 1 งาน เพื่อแบ่งให้แต่ละครอบครัวปลูกผักสวนครัวเพื่อใช้รับประทานในครัวเรือน เมื่อผล ผลิตมีมาก กินไม่ทันก็นำไปขาย พร้อมกันนั้นได้มีทางเทศบาลตำบลหนองโน และเกษตรอำเภอกระนวนเข้ามาส่งเสริมการปลูกแบบชีวภาพ ซึ่งผลผลิตสามารถปลูกได้ตลอดปี ถ้าเป็นฤดูฝน ผักที่ใช้อากาศนาวจะปลูกไม่ได้ ชาวบ้านจะนำข้าวโพดมาปลูก สร้างรายได้ตลอดทั้งปี”
นางสีนวน กล่าวอีกว่า “สำหรับพืชผักสวนครัวที่ปลูกนั้น จะทำการปลูกทุกอย่างที่กินได้ เช่น ถั่ว ฝักยาว แตงกวา มะเขือ พริก คะน้า ผักชี ต้นหอม กะหล่ำปลี ผักกวางตุ้ง มอคเคอรี่ พืชผักสวนครัวทุกชนิด แรก ๆ ตลาดยังไม่มีชาวบ้านใช้วิธีการเข็ญขายตามหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันนี้ผักสดขายดีมาก ไม่ต้องออกไปเร่ขายตามหมู่บ้าน จะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อกันถึงที่ โดยรายได้แต่ละครัวเรือนจะมีรายได้ไม่เท่ากัน บางรายปลูกผักเยอะ มีออเดอร์สั่งเข้ามา สามารถสร้างรายได้วันละ 2 พันบาท ตำสุดจะอยู่ที่ 500 บาท ต่อวัน ขึ้นอยู่กับความขยันของแต่ละคน” นางสีนวนกล่าวไว้ในที่สุด
สำหรับความต้องการสูงสุดของชาวบ้านที่ปลูกผักคือ ระบบบริหารจัดการน้ำ ถังน้ำสูง เพื่อที่จะผันน้ำจากบ่อน้ำหมู่บ้านขึ้นที่สูง แล้วกระจายไปตามแปลงผัก ไม่ต้องแย่งน้ำกัน.
Discussion about this post