วันที่ 20 เมษายน 2565 ที่ห้องประชุมโพนสวรรค์ โรงแรมพักพิงอิงโขง เขตเทศบาลเมืองนครพนม นายวรรณพล ต่อพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมเปิดตัวโครงการ“การขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะที่มีจุดเน้นสำคัญ สานพลังภาคียุทธศาสตร์ จังหวัดนครพนม” ซึ่งจัดโดยหน่วยจัดการจังหวัดระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship)จังหวัดนครพนม สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6 สำนักสร้างสรรค์โอกาส
โดย ดร.วรวุฒิ อินทนนท์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ในนามที่ปรึกษาโครงการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะที่มีจุดเน้นสำคัญ สานพลังภาคียุทธศาสตร์ จังหวัดนครพนม กล่าวว่า สืบเนื่องจากภาคีเครือข่ายวิชาการ ภาคประชาสังคมและส่วนราชการจังหวัดนครพนม ในฐานะกลไกคณะทำงานหน่วยจัดการจังหวัดระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship) จังหวัดนครพนม โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. สำนัก 6 สำนักสร้างสรรค์โอกาส ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพ 2 ประเด็นหลัก คือ 1.ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ คือ เกิดการเชื่อมประสานระหว่างภาคียุทธศาสตร์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในจังหวัดนครพนม ภายใต้วาระ “ผู้สูงอายุสุขภาพดี” และ 2.ประเด็นการจัดการขยะ โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ คือ ปริมาณขยะในจังหวัดนครพนมลดลงร้อยละ 5 และเกิดโมเดลการจัดการขยะระดับเมืองรองภายใต้แนวคิด “สร้างเมืองสะอาดสู่การจัดการขยะระดับเมืองรอง”
ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดนครพนม โดยการดำเนินโครงการฯ จะมีการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับชุมชน องค์กรและหน่วยงานในพื้นที่ของจังหวัดนครพนมที่สนใจจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ โดยกระจายทั้ง 12 อำเภอในจังหวัดนครพนม
ดร.วรวุฒิ อินทนนท์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดเวทีเปิดตัวโครงการฯ ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั่วไปและสังคมสาธารณะในจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะชุมชน องค์กรและหน่วยงานที่สนใจจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ได้รับรู้กระบวนการ แนวทางการขับเคลื่อน เงื่อนไขการรับโครงการย่อยและผลลัพธ์ที่คาดหวัง เพื่อเตรียมออกแบบกระบวนการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต
ในส่วนผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย คณะทำงานโครงการฯ หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครพนม คณา จารย์จากมหาวิทยาลัยนครพนม ผู้นำชุมชนและภาคประชาสังคมในจังหวัดนครพนมที่ให้ความสนใจ จำนวนทั้งสิ้น 60 คน ซึ่งคณะจัดงานได้ดำเนินการตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีจุดวัดอุณหภูมิ มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ทุกท่าน สวมหน้ากากอนามัย (Mask) ตลอดกระบวนการประชุมร่วมด้วย
หลังจากนั้น นายวรรณพล ต่อพล รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและการจัดการขยะของจังหวัดนครพนม” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การเปิดตัวโครงการฯ ในครั้งนี้ ทราบว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั่วไป และสังคมสาธารณะในจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะชุมชน องค์กร และหน่วยงานที่สนใจจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ได้รับรู้กระบวนการ แนวทางการขับเคลื่อนเงื่อนไขการรับโครงการย่อยและผลลัพธ์ที่คาดหวัง เพื่อเตรียมออกแบบกระบวนการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะร่วมกัน 2 ประเด็นในอนาคต คือ ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และประเด็นการจัดการขยะ การจัดประชุมฯจะเห็นได้ว่าแนวทางการดำเนินงานของโครงการฯ มีความสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของจังหวัดนครพนม ทั้งเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุให้เป็นผู้มีสุขภาพที่ดี ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ทางสังคมและการใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายได้อย่างมีความสุข และประเด็นการจัดการขยะที่มุ่งสู่การลดปริมาณขยะในจังหวัดนครพนม และเกิดโมเดลการจัดการขยะระดับเมืองรองภายใต้แนวคิดร่วมกันสร้างเมืองให้สะอาดร่วมกัน ซึ่งนอกจากผู้เข้าประชุมจะได้ทราบนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและการจัดการขยะแล้ว ยังจะได้เรียนรู้บทเรียนและรูปธรรมความสำเร็จของการสร้างเสริมสุขภาวะคนนครพนม ทั้งประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และประเด็นการจัดการขยะจากคนทำงานที่มีประสบการณ์มาแล้วในปีแรก รวมทั้งจะได้รับรู้กระบวนการ แนวทางการขับเคลื่อน เงื่อนไขการรับโครงการย่อยและผลลัพธ์ที่คาดหวังของโครงการในปีที่ 2 ร่วมด้วย
ในการประชุมครั้งนี้มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 1.คุณจิรัชญา อุไรวงค์ หัวหน้ากลุ่มงานบริการด้านปฐมภูมิและองค์รวม รพ.วังยาง ผู้แทนประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ กรณี ต.วังยาง 2.คุณณรงค์ชัย บุรชาติ นักพัฒนาชุมชน อบต.มหาชัย ผู้แทนประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ กรณี ต.มหาชัย 3.คุณนวรัตน์ ลิจ้วน ปลัดเทศบาลตำบลศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม ผู้แทนประเด็นการจัดการขยะ กรณี ต.ศรีสงคราม และ 4.คุณประพัน พิมพานนท์ ผู้นำชุมชนวัดมหาธาตุ เทศบาลเมืองนครพนม ผู้แทนประเด็นการจัดการขยะ กรณีชุมชนวัดมหาธาตุ
สำหรับความเป็นมาของโครงการดังกล่าวนี้ หลังสำรวจพบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 13.56 ขณะที่ปริมาณขยะประมาณ 2.7 แสนตันต่อปี ดังนั้น หน่วยจัดการจังหวัด ระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship) จังหวัดนครพนม จึงเกิดจากการรวมตัวของภาควิชาการ ภาคราชการ และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำหน้าที่เป็นตัวแทน สสส.ในการเป็นกลไกระดับจังหวัดที่มีขีดความสามารถในการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ประเด็นสุขภาวะของพื้นที่ เริ่มดำเนินงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชนในจังหวัดนครพนม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 จนถึงปัจจุบัน
โดยมีผลการดำเนินงานในปีที่ 1 พ.ศ.2564 ได้สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับชุมชน องค์กร จำนวน 2 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพพฤติกรรมที่พึงประสงค์สำหรับผู้สูงอายุ และประเด็นการจัดการขยะ รวมทั้งสิ้นจำนวน 25 โครงการ ผลลัพธ์ได้เกิดรูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพพฤติกรรมที่พึงประสงค์สำหรับผู้สูงอายุ เกิดพื้นที่ต้นแบบที่พร้อมยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และเกิดรูปแบบการจัดการขยะโดยชุมชน ปรากฏว่ามีชุมชนและสถานประกอบการเข้าร่วม 6,363 ครัวเรือน พบว่าบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ขยะลดลงร้อยละ 15 เกิดโมเดลระดับเมืองรอง 1 โมเดล
เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 พ.ศ.2565 จึงเป็นการต่อยอดจากการดำเนินงานใน 2 ประเด็นเดิม ได้แก่ 1.ประเด็นยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เน้นให้ผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคมและติดบ้าน มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ (ออกกำลังกาย,อาหาร,น้ำดื่ม,ไม่สูบบุหรี่,ไม่ดื่มแอลกอฮอล์)ร้อยละ 80 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดของจังหวัดนครพนม โดยจะสนับสนุน 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ระดับหมู่บ้าน จำนวน 4 โครงการ งบประมาณโครงการละ 60,000 บาท ประเภทที่ 2 ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 5 โครงการ งบประมาณโครงการละ 125,000 บาท ประเภทที่ 3 ระดับ อปท.และ รร.ผู้สูงอายุหรือชมรมผู้สูงอายุที่มีความเข้มแข็ง งบประมาณโครงการละ 130,000 บาท และ ประเภทที่ 4 ระดับศูนย์เรียนรู้ จำนวน 2 โครงการๆละ 155,000 บาท.
Discussion about this post