
วันที่ 21 ก.พ.2568 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (การนำเสนอผลงานระดับจังหวัดเชียงราย) ภายใต้โครงการพัฒนาครูมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดเชียงรายให้เป็น Learning Coach ผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning และโครงการการจัดการเรียนการสอนรายวิชาแบบบูรณาการโดยใช้ STEM ศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการสอนของครูในโรงเรียนชายขอบจังหวัดเชียงราย ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมด้วย อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รองเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย (เขต 1, เขต 2, เขต 3 และเขต 4) และคณะครูในจังหวัดเชียงราย จำนวนกว่า 300 คนเข้าร่วม ณ ห้องประดู่แดง 1 อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี (E4) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมและมอบโล่ขอบคุณให้แก่หน่วยงานภาคีด้านการศึกษาที่ร่วมดำเนินโครงการ ประกอบด้วย
- สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เชียงราย
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เชียงราย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวต้อนรับและแสดงเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัดเชียงราย โดยกล่าวขอบคุณภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา รวมถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนในจังหวัดที่ร่วมมือกันดำเนินโครงการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
การดำเนินโครงการพัฒนาครูฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณภายใต้โครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 2 โครงการ ที่เราเรียกว่า โครงการ PLC และโครงการ STEM ซึ่งทั้งสองโครงการมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือพัฒนาครูในจังหวัดเชียงราย สู่ความเป็นเลิศด้านการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน อันนำมาสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนในท้ายที่สุด คุณครูได้ผ่านการอบรม เรียนรู้ในหลักสูตรต่าง ๆ อย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา จนมาถึงกิจกรรมสุดท้ายในวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์สำคัญที่สุดของโครงการ นอกเหนือจากเป็นการแสดงผลงานวิชาการของครูทั้ง 176 ผลงาน เพื่อให้โรงเรียนที่สนใจได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วนั้น ที่สุดพิเศษอีกประการหนึ่ง คือการเปิดเวทีให้ครูในโครงการที่ชนะเลิศการนำเสนอผลงานระดับเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 11 ท่าน ประกอบด้วยครูจากโครงการ PLC จำนวน 5 ท่าน และครูจากโครงการ STEM จำนวน 6 ท่าน มาประกวดแข่งขันการนำเสนอผลงานด้วยวิธีการ Pitching เพื่อเฟ้นหาสุดยอดครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับจังหวัดของทั้ง 2 โครงการในวันนี้
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเพื่อการพัฒนาครูชนบท ให้เกียรติบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนาครูในบริบทที่เปลี่ยนไป” ให้กับคณะผู้บริหารโรงเรียนและคุณครูที่มาร่วมงาน โดยได้มอบหลักการดำเนินชีวิตครูไว้ 3 ข้อ ดังนี้
- รักในอาชีพครู
- มุ่งมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
- มีค่านิยมในการดำเนินชีวิตที่ดี
และปิดท้ายด้วยประโยคประทับใจผู้รับฟังว่า “เปลี่ยนตัวเองให้ทัน บอกตัวเองว่าจะเป็นครูที่ดีที่สุด”
นอกจากนี้ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กล่าวบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การส่งเสริมและการเตรียมความพร้อมสู่การยกระดับสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน”
อาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีของโครงการ ครูที่เข้าร่วมได้รับการอบรมและพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการเรียนการสอน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้คำปรึกษาแนะนำในโรงเรียน การพัฒนาการสอนสู่งานวิจัยในชั้นเรียน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายโรงเรียนในพื้นที่ โดยในวันนี้ได้มีการนำเสนอผลงานของครูทั้งสิ้น 176 ผลงานจาก 60 โรงเรียน ใน 5 เขตพื้นที่การศึกษาของจังหวัดเชียงราย
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในฐานะศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคเหนือ ที่มุ่งมั่นในการยกระดับศักยภาพของครู ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเยาวชนไทยให้ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
กิจกรรมปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ โดยมีการมอบรางวัลแก่ครูผู้ชนะเลิศจากการนำเสนอผลงาน และร่วมกันแ สดงเจตจำนงในการพัฒนาระบบการศึกษาให้เติบโตและขยายผลต่อไปในอนาคต.