
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีสถานการณ์ไฟป่าในกลุ่มป่าตะวันตกvรือกลุ่มป่าที่ 12 รอบเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เดินเท้าเข้าไปดับไฟป่าที่เกิดขึ้นบนยอดเขาที่สูงชัน บางพื้นที่มีหน้าผาที่ค่อนข้างอันตราย อีกทั้งต้องสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญกับสัตว์ป่าที่ดุร้าย โดยเฉพาะช้างป่า จากสถานการณ์การเกิดไฟป่า จึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพากรมฝนหลวงและการบินเกษตร นำเครื่องบินมาทำฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้นในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าที่ 12 รอบเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก
ที่ผ่านมานายอธิสรรค์ อินทร์ตรา ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ.68 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นปฏิบัติการลดฝุ่น PM.2.5 และ ทำฝนหลวงเพื่อดับไฟป่าและเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่เกษตร นำปฏิบัติการโดย น.ส.ชญาณ์พิมพ์ อินทร์หนุน หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี
ภายใต้การควบคุมการปฏิบัติการของนายขวัญชัย เพ็ชรกลับ และ ผอ.รัฐกร วรุณสุขะศิริ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้ฝนตกเล็กน้อยในพื้นที่ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอหนองปรือ และ ตกหนักปานกลางที่ อำเภอบ่อพลอย ประมาณ 25% ของพื้นที่
โดยตั้งแต่ 19.00 น. ฝนที่ตกลงมาตามธรรมชาติได้ตกในพื้นที่ อำเภอด่านมะขามเตี้ย และ พื้นที่ ตำบลบ้องตี้ ตำบลท่าเสา ตำบลวังกระแจะ และ ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จนถึงเวลา 20.30 น.ฝนก็ยังคงตกอยู่ โดยปริมาณฝนที่ตกสามารถดับไฟป่าช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM.2.5 และสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าป้องกันการเกิดไฟป่าได้ อีกทั้งยังเพิ่มความชุ่มชื้นให้พืชผลทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี
สำหรับอำเภอบ่อพลอยนั้น มีพื้นที่ 265,308 ไร่ การที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงบินขึ้นปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกลงมาร้อยละ 25 ของพื้น ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ 66,000 ไร่ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยทำวิจัยเอาไว้ว่า ในแต่ละครั้งหากปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เป้าหมายประสบความสำเร็จครอบคลุมพื้นที่ราว 1 หมื่นถึง1 แสนไร่ ค่าใช้จ่ายจะจะอยู่ที่ไร่ละ 10-11 บาทเท่านั้น
ขณะที่นายศิวะปกรณ์ วิเชียรเพริศ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ประจำวันที่ 20 ก.พ.2568 ในรอบเช้าว่าดาวเทียม ซูโอมิเอ็นพีพี (Suomi NPP) ระบบ วีอาร์เอส (VIIRS) ตรวจพบจุดความร้อน ((Hotspot) มีจำนวนทั้งสิ้น 4 จุด พบในเขตกลุ่มป่าที่ 12 รอบเขื่อนศรีนครินทร์ 1 จุด ป่าอนุรักษ์ 0 จุด และป่าสงวนแห่งชาติ 1 จุด นอกเขตกลุ่มป่าฯ 1 จุด ประกอบด้วย เขต ส.ป.ก. 0 จุด พื้นที่เกษตรกรรมไร่อ้อย 1 จุด และพื้นที่อื่นๆ 0 จุด
ครั้งนี้ต้องขอขอบคุณหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจทำฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีในการช่วยดับไฟป่าและทำให้ลดจุดความร้อน (HotSpot)ในแต่ละพื้นที่กลายเป็น 0 แทบทุกจุด ซึ่งในวันนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จะดำเนินการบินเพื่อทำฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี อีกครั้งหนึ่งด้วย
//////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์