
วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.30 น. นายแพทย์กิตติเชษฐ์ ธีรกุลพงษ์เวช รักษาการนายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการประยุกต์ใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงภัยคุกคาม โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญจังหวัดชายแดนและระหว่างประเทศ สปป.ลาว โดยมี สพญ.ดร.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย รักษาการนายสัตวแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ผู้แทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.รัศมี วงคำสาว รองอธิบดีกรมควบคุมโรคพยาธิติดต่อ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) คณะวิทยากรจากกรมควบคุมโรค และผู้เข้าร่วมประชุมจาก 5 จังหวัด 6 แขวง ที่มีพื้นที่ติดแนวชายแดน ประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ณ ห้องประชุม โรงแรมบลู โฮเทล จังหวัดนครพนม
นายแพทย์กิตติเชษฐ์ ธีรกุลพงษ์เวช รักษาการนายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ในนามจังหวัดนครพนม โดยสำนักงานสาธารรสุขจังหวัดนครพนม มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นพื้นที่สำหรับการจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความร่วมมือด้านสุขภาพชายแดนระหว่างประเทศ ไทย – สปป.ลาว ผ่านการ “ประชุมเชิงปฏิบัติการประยุกต์ใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงภัยคุกคาม โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญจังหวัดชายแดนและระหว่างประเทศ” โดยประเทศไทยมีแนวชายแดนเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ยาว 1,845 กม. เฉพาะพื้นที่ในแถบภาคอีสานยาวลงมาตั้งแต่ จังหวัดเลย – ไชยะบุรี จนถึงอุบลราชธานี – จำปาสัก เมืองชายแดนเปรียบเสมือนเมืองคู่มิตร หรือ Friendship Cities ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ทางชุมชน สังคม และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันจนไม่สามารถแยกจากกันได้ และยังพบการเดินทางเข้า – ออก ระหว่างประเทศของผู้คนทั้งสองฝั่งกันอย่างสม่ำเสมอผ่านทั้งทางช่องทางผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนทางการค้า ฯลฯ เพื่อจุดประสงค์การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการรักษาสุขภาพของประชาชน
“การเตรียมความพร้อมเพื่อเฝ้าระวังโรคระหว่างประเทศ ถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและลดผลกระทบจากภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการนำเครื่องมือประเมินความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ ที่เรียกว่า Threats and Hazards Identification and Risk Assessment : THIRA (ไต หล้า) มาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง ภัยคุกคาม รับมือกับสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดน ไทย – สปป. แถบภาคอีสาน นับเป็นกลยุทธ์ที่ดีเยี่ยมในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค ในพื้นที่ชายแดนของเราอย่างรอบด้าน” นายแพทย์กิตติเชษฐ์ ธีรกุลพงษ์เวช กล่าว
สพญ.ดร.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย รักษาการนายสัตวแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ผู้แทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยเห็นความสำคัญของการป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่เสมอ โดยเฉพาะประเทศคู่มิตร “สปป.ลาว” ซึ่งรัฐบาลไทยเริ่มให้ความร่วมมือทางวิชาการระดับทวิภาคีอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี 2516 (มากกว่า 42 ปี) โดยเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น การให้ทุนศึกษา/ฝึกอบรม การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งโครงการเพื่อการพัฒนา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) และสอดรับตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการเจริญเติบโต โดยมุ่งเน้นใน 3 สาขาหลักที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ การเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข
“การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสาธารณสุขรอบรั้วชายแดนไทยและ สปป.ลาว ให้มีการเตรียมความพร้อมด้านขีดความสามารถ รวมถึงทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อ รับรองการระบาดโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สอดคล้องยุทธศาสตร์ กรมควบคุมโรค 20 ปี ที่ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพดี ได้รับการบริการด้านการป้องกันควบคุมโรคตามมาตรฐานสากล ภายในปี 2570” สพญ.ดร.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย กล่าว
อนึ่ง ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ โดยกรมควบคุมโรคมีกรอบแนวทางในการดำเนินงานตามแผนพัฒนาด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ มีแผนปฏิบัติการความร่วมมือฯ โดยมุ่งเน้นพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ พัฒนากลไกด้านการป้องกันควบคุมโรคระหว่างประเทศ ซึ่ง 12 จังหวัดของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับ สปป.ลาว 7 แขวง ได้แก่ แขวงบ่อแก้ว แขวงไชยะบุรี แขวงจำปาสัก นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน และแขวงสะหวันนะเขต โดยพื้นที่ชายแดนดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคต่างๆ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม เพื่อเฝ้าระหว่างโรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นระหว่างประเทศ
ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี สำนักงานป้องกันและควบคุมดรคที่ 8 จังหวัดอุดรธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศพรมแดนสะพานมิตรภาพ 3 นครพนม ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สะพานมิตรภาพ 1 หนองคาย ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศพรมแดนบึงกาฬ มุกดาหาร ช่องแม็ก ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศท่าอากาศยานอุบลราชธานี ผู้เข้าร่วมจาก สปป.ลาว ได้แก่ กรมควบคุมพยาธิติดต่อ แผนกสาธารณสุขแขวงคำม่วน นครหลวงเวียงจันทร์ แขวงบอลิคำไซ แขวงสะหวันนะเขต แขวงจำปาสัก และวิทยากรกรมควบคุมโรค จากสถาบันเวชศาสตร์ป้องกันศึกษา กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน และสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญากุล ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครพนม
Discussion about this post