เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่โรงสีข้าวพระราชทาน จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ที่ 66 หมู่ 3 ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี พร้อมด้วยคณะบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล และบุคลากรโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ทั้ง 11 แห่ง เยี่ยมชมการดำเนินงานโรงสีข้าวพระราชทาน อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โดยมีนายนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วยนายอำเภอท่าวังผา ทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชน ให้การต้อนรับ
![องคมนตรี พร้อมด้วยคณะบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล และบุคลากรโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ทั้ง 11 แห่ง เยี่ยมชมการดำเนินงานโรงสีข้าวพระราชทาน อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน 2 17388425878143381922334046120285](https://i0.wp.com/www.talknewsonline.com/wp-content/uploads/2025/02/17388425878143381922334046120285.jpg?resize=640%2C427&ssl=1)
โรงสีข้าวพระราชทาน จังหวัดน่าน เปิดดำเนินการตั้งแต่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ปัจจุบันมีสมาชิก 1,160 คน ดำเนินธุรกิจธุรกิจหลัก คือรวบรวมและรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อแปรรูปและบริการสีข้าว ธุรกิจจัดหาปัจจัยการผลิตมาจำหน่ายแก่สมาชิก ธุรกิจสินเชื่อเพื่อการเกษตร ธุรกิจบริการรถไถนา และธุรกิจแปรรูปกาแฟและร้านกาแฟภูพยัคฆ์
โรงสีข้าวพระราชทาน จังหวัดน่าน เกิดขึ้นในปี 2552 ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โครงการกองทุนข้าวพระราชทาน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนข้าว และเป็นกองทุนข้าวสำรองช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนและผู้ประสบภัยพิบัติในอนาคต โดยมี สำนักงานสหกรณ์จังหวัดน่าน เข้ามาช่วยบริหารจัดการโรงสีข้าวด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมในรูปแบบการบริหารและวิธีการแบบสหกรณ์ พร้อมทั้งนำหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนด้านการอบรมให้ความรู้การผลิตข้าวปลอดภัย การสีข้าวให้ได้คุณภาพตามตลาดต้องการ และการพัฒนาระบบการผลิตโรงสีข้าวให้ได้มาตรฐาน
สำหรับโรงสีข้าวพระราชทานสามารถสีข้าวได้ 6 ตันต่อวัน โดยนำข้าวที่ได้จากเกษตรกรมาผ่านกระบวนการของเครื่องจักรโรงสีข้าวชุมชนพระราชทาน ซึ่งได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการผลิตที่ดี หรือ GMP โดยรับซื้อข้าวจากสมาชิกเป็นหลัก และคิดค่าบริการสีข้าวในอัตราที่ต่ำกว่าโรงสีทั่วไป ส่วนข้าวท่อน ปลายข้าวรำอ่อน และแกลบที่ได้จากการสีข้าว โรงสีข้าวจะนำไปจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ซึ่งเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพันธุ์ข้าวปลอดภัยและข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพดี อาทิ ข้าวหอมมะลินิล ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมทับทิมชุมแพ ข้าวเหนียวก่ำ และข้าวหอมมะลิ จนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจึงเพิ่มการผลิตและการจำหน่ายสู่ตลาดภายใต้ตราสินค้า “ข้าวน่าน” โดยเน้นจำหน่ายให้แก่ตลาดภายในพื้นที่ โรงพยาบาลทั่วจังหวัดน่าน โรงเรียน เรือนจำ หน่วยทหาร และบริษัทเอกชน รวมถึงแปรรูปต่อยอดผลิตภัณฑ์เป็นจมูกข้าวกล้องแบบชงดื่ม และข้าวอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ร่วมกันยกระดับการผลิตและการตลาดข้าวอินทรีย์แบบครบวงจร
นอกจากนี้ ภายในบริเวณโรงสีข้าวพระราชทาน ยังมีศูนย์การเรียนรู้บ้านจำลองชนเผ่าไทลื้อ ซึ่งเปิดให้บริการกาแฟของร้านกาแฟสดภูพยัคฆ์ สาขาโรงสีข้าวพระราชทานเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริมการปลูกหวายและไผ่จังหวัดน่านตามพระราชดำริภายใต้ตราสินค้า “รักษ์หวายและไผ่น่าน” เช่น เก้าอี้หวาย โต๊ะหวาย รวมถึงสินค้าของชุมชนจัดหน่ายให้ผู้สนใจได้เลือกซื้อ อาทิ ผ้าทอไทลื้อ หมวกสาน น้ำพริกไก (สาหร่ายน้ำจืด) อาหารแปรรูป เป็นต้น ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการพัฒนาให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์เพื่อเป็นจุดจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์ที่มีคุณภาพภายในจังหวัดน่าน รวมถึงสินค้าจากกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ อีกด้วย
ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น จ.น่าน
Discussion about this post