จังหวัดสระบุรี ในช่วงสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลมาฆบูชาประจำปี 2568 จังหวัดสระบุรีได้เตรียมจัดงาน เทศกาลแสงเทียนแห่งศรัทธาขึ้น ระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2568 ณ วัดพระพุทธฉาย ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เพื่อส่งเสริมความศรัทธาในพระพุทธศาสนา สืบสานประเพณีท้องถิ่น และต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
วัดพระพุทธฉาย : มรดกทางประวัติศาสตร์และศรัทธา
วัดพระพุทธฉาย เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี วัดแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการค้นพบ “พระพุทธฉาย”หรือเงาพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นรอยประทับเลือนรางบนหน้าผาเชิงเขาในบริเวณวัด
พระพุทธฉายถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2163-2171) เมื่อพระองค์มีรับสั่งให้ค้นหารอยพระพุทธบาทตามภูเขาทั่วราชอาณาจักร จึงพบรอยเงาพระพุทธเจ้าที่หน้าผาเชิงเขาแห่งนี้ สันนิษฐานว่าเงาพระพุทธรูปยืนนี้เกิดขึ้นจากธรรมชาติ แต่ด้วยความศรัทธา จึงถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนเคารพบูชามาตั้งแต่นั้น
ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับรอยพระบาทที่เขาพระพุทธฉาย และทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้เงาของพระองค์ติดอยู่บนหน้าผา เพื่อให้ นายพรานฆาฏกะ และบริวารได้สักการะกราบไหว้ สิ่งนี้ทำให้พระพุทธฉายกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนนิยมเดินทางมาสักการะ หลังการค้นพบพระพุทธฉาย ได้มีการสร้าง พระมณฑป คลุมรอยเงาพระพุทธเจ้าไว้เป็นสถานที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน ตลอดจนพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงในรัชกาลต่อมา วัดพระพุทธฉายจึงกลายเป็นศูนย์รวมศรัทธาที่สำคัญของจังหวัดสระบุรี
กิจกรรมภายในงาน มีพิธีน้อมถวายผ้าพระพุทธฉาย ประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดมาช้านาน โดยพุทธศาสนิกชนจะร่วมกันถวายผ้าผืนงามเพื่อสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่แสดงออกถึงความศรัทธาอย่างแท้จริง จุดเทียนและเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ บรรยากาศอันสงบงามภายใต้แสงเทียนนับพันดวง ที่ส่องสว่างนำทางสู่ความสงบทางใจ พร้อมกับเสียงสวดมนต์และบทภาวนาที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ร่วมงาน จัดแสดงนิทรรศการวันมาฆบูชา นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของ “วันจาตุรงคสันนิบาต” หรือวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสงฆ์ 1,250 รูป โดยไม่มีการนัดหมาย พร้อมทั้งการบรรยายธรรมจากพระสงฆ์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์และศิลปวัฒนธรรม เวิร์กช็อปทำเทียนหอมและเครื่องสักการะ เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านการทำเทียนหอมและเครื่องสักการะ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชมการแสดงโขน ละคร และมหรสพสมโภชที่สะท้อนเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
นายดุรงค์ฤทธิ์ ศิริวัฒนพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า
เทศกาลแสงเทียนแห่งศรัทธาไม่เพียงเป็นงานที่ส่งเสริมศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยเรามุ่งเน้นการนำอัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่น ประเพณีถวายผ้าพระพุทธฉาย และศิลปะการแสดงพื้นบ้าน มาเป็น Soft Power เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างจังหวัด สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
เพื่อให้การจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย ทางคณะจัดงานได้เตรียมมาตรการต่าง ๆ ไว้อย่างครบวงจร เช่น ระบบจราจรจัดจุดจอดรถฟรีและเส้นทางเดินรถที่สะดวก ด้านความปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยตลอดงาน จัดเตรียมพื้นที่พักผ่อนและจุดบริการน้ำดื่มฟรี
การจัดงานในปีนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น เพื่อขยายผลสู่การเป็น เมืองท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมชั้นนำของภูมิภาค
เทศกาลแสงเทียนแห่งศรัทธาไม่เพียงเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจทางศรัทธา แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยใช้ Soft Power ของท้องถิ่นเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ปานวาด สุขไพบูลย์ / สระบุรี