สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ร่วมกับ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะแพทยศาสตร์ และหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต เกาะเกิ้ง (Moon Island Soft Opening: Flow with Nature’s Rhythm) ที่สถานีปฏิบัติการบ้านเกิ้ง (กุดแดง) ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โดยมี รศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ ผศ. ดร.สุดารัตน์ ถนนแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช นำผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักเรียน นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และประชาชนเข้าร่วมงาน
ผศ. ดร.สุดารัตน์ ถนนแก้ว ผอ.สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช เปิดเผยว่า สถานีปฏิบัติการบ้านเกิ้ง สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำชี ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการเซาะตลิ่งของสายน้ำจนเกิดเป็นคุ้งน้ำรูปแอก (Oxbow Lake) หรือที่เรียกว่า “กุดแดง” โดยมีพันธกิจหลักด้านการวิจัยและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับนิเวศวิทยาทางน้ำ เน้นการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในป่าบุ่งป่าทาม นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งบริการวิชาการ จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ ชุมชน และผู้สนใจทั่วไป เพื่อตอบสนองนโยบายของทางมหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวชได้ดำเนินแผนพัฒนาสถานีปฏิบัติการบ้านเกิ้ง ปี 2566-2569 ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทางน้ำและเกษตรอินทรีย์เพื่อชุมชน รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของนิสิตและชุมชน โดยโครงการแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เชิงธรรมชาติและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมทั้งส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ข้อ 14 เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล
ภายในงานได้จัดกิจกรรมพายเรือคายัค สำรวจระบบนิเวศ,การเดินศึกษาธรรมชาติ , การทำกระเป๋าผ้า Eco-Printing จากวัสดุธรรมชาติ , การประกวดถ่ายภาพ , การจัดจุดถ่ายภาพ,การจัดตลาดอาหารท้องถิ่น ,การจัดดินเนอร์คอนเสิร์ตชมพระอาทิตย์ตก , กิจกรรมดูดาวพร้อมฟังบรรยายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ และการแสดงดนตรีคลาสสิก และดนตรีโฟล์คซอง อคูสติกจากศิลปินท้องถิ่น เพื่อมุ่งสร้างประสบการณ์ที่ผ่อนคลายและใกล้ชิดธรรมชาติ พร้อมเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดใกล้เคียง และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
นายธิติ นารถศิลป์ เป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวที่เคยมาเป็นครั้งแรก กล่าวว่า ทราบข่าวว่ามีกิจกรรมนี้จากเพื่อน และได้ชวนเราให้ลองมามีกิจกรรมต่าง ๆ ให้เล่น เช่น พายเรือคายัค เดินป่า ฟังแล้วน่าสนุก และวันนี้ได้มาก็สนุกจริง ๆ รู้สึกดีใจที่มีที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่ใกล้ชิดธรรมชาตในจังหวัดมหาสารคามเพิ่มมากขึ้น
ด้าน นางรติยาภา เตื่อยมา และ นางสาว รสิตา เตื่อยมา คู่แม่ลูกที่ได้เดินทางเข้ามาร่วมกิจกรรมในวันนี้ กล่าวว่า ที่นี่บรรยากาศดี น่าเที่ยวมาก อยากให้คนในจังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดใกล้เคียงมาเที่ยว วันนี้ได้ลองพายเรือคายัคแล้ว สนุกและชอบมาก การที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามพัฒนาพื้นที่เกาะเกิ้งตรงนี้ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติถือว่าดีมาก ๆ ดีกว่าปล่อยให้เป็นป่ารกร้าง อีกทั้งได้เห็นชาวบ้านในชุมชน มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเกษตร ก็ถือว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้กลุ่มเกษตรกรในชุมชนอยู่ดีกินดีขึ้นอีกด้วย
ทีมข่าว//มหาสารคาม
Discussion about this post