วันที่ 14 ก.พ.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านปากประ หมู่ที่ 8 ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายธราวุธ ช่วยเกิด ปลัดจังหวัดพัทลุง พร้อมชาวบ้าน นักเรียน ลงเก็บเกี่ยวข้าวโดยใช้ “แกระ” เครื่องมือเก็บเกี่ยวรวงข้าวมาตั้งแต่สมัยโบราณใช้เก็บเกี่ยว พร้อมใช้ชื่อกิจกรรมครั้งนี้ว่า “เก็บข้าวนาเล เสน่ห์นาดอน” ซึ่งผู้เก็บเกี่ยวแต่ละรายที่ร่วมลงแปลงนาข้าวในวันนี้ก็ต่างสนุกสนาน ที่ได้ร่วมกับการทำกิจกรรม
สำหรับบ้านปากประ หมู่ที่ 8 ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นที่ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาริมเลบ้านปากประ บ้านเรือนตั้งอยู่ริมทะเลสาบตำบลลำปำ บริเวณหมู่ที่ 7 หมู่ที่ 8 หมู่ที่ 11 ซึ่งมีพื้นที่ติดกับทะเลสาบลำปำ ( ทะเลสาบสงขลา ) ได้ใช้พื้นที่ตามแนวยาวของชายฝั่งทะเลสาบที่ทอดยาวเกือบ 9 กม. ใช้ภูมิ ปัญญาที่สะสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษเพาะปลูกต้นข้าวริมทะเลสาบ ใช้จังหวะช่วงน้ำในทะเลสาบ เพื่อทำการปักดำปลูกข้าว เพราะทะเลสาบไม่มีคลื่นลม เรียกว่าช่วงลมพลัด โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ในช่วงเดือนกันยายนนั้นเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวพอดี และจะต้องเก็บเกี่ยวให้เสร็จด้วย เพราะหลังจากเดือนกันยายนแล้ว จะเข้าสู่ช่วงลมนอก แล้วทะเลสาบสงขลาจะมีคลื่นลมแรง หากเก็บเกี่ยวไม่เสร็จข้างจะเสียหายหมด” วิธีการเพาะปลูกนั้น ต้องหาพันธุ์ข้าวที่ลำต้นแข็งแรง มีรากลึก และต้นข้าวเมื่อเจริญเติบโตแล้วต้องมีความสูง สามารถต้านกับสภาพแรงลมและคลื่นขนาดเล็กที่ซัดเข้าหาฝั่งได้
จึงนิยมใช้พันธุ์ข้าว กข.33 และพันธุ์ข้าวชัยนาท ผู้ทำนาข้าวในทะเลสาบนั้น จะต้องเตรียมแปลงนาข้าวบริเวณเพาะปลูกเนื่องจากนาข้าวส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่น้ำไม่จมประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำการไถกลบหน้าดินเล็กน้อย อีกส่วนที่จมน้ำประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ระดับความลึกของน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร สามารถปักดำได้เลย เนื่องจากเป็นดินเลนและตะกอนที่ทับถม ที่เป็นวิถีที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษเพื่อใช้ผลผลิตที่ได้เลี้ยงครอบครัว และถือว่าการทำนาในทะเลสาบมีแห่งเดียวในประเทศไทย
ดังนั้นทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาริมเลบ้านปากประ ได้ทำการส่งเสริมขยายการทำนาปลูกข้าวไว้กินเองเพื่อความมั่งคงทางอาหารของชาวบ้านและเป็นการสร้างรายได้เพิ่ม จึงได้นำข้าวนาริมเล สายพันธุ์ข้าวหอมนาเล ที่ใช้ในการทำนาริมเล มาทดลองปลูกในแปลงพื้นที่นาดอนเนื้อที่จำนวน 1 ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากทะเลสาบประ มาณ 500 เมตร ประสบผลสำเร็จได้รวงข้าวเม็ดข้าวเต็มเม็ดเต็มหน่วย หลังจากนี้ก็จะทำการส่งเสริมชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวนำพันธุ์ข้าวนาเล ขึ้นมาเพาะปลูกในพื้นที่นาดอนเพิ่มมากขึ้น ต่อไปหากชาวบ้านที่สนใจจะทำนาพื้นที่นาดอน ก็สามารถทำนาในพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณบ้านได้เพื่อเป็นแหล่งอาหารและเก็บรักษาสายพันธุ์ข้าวให้มีตลอดไปทั้งนี้สามารถลดรายจ่าย สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้
และวันนี้เป็นช่วงที่รวงข้าวกำลังสุกเต็มที่ ทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาริมเลบ้านปากประ ได้เชิญนางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมชาวบ้าน นักเรียน ลงเก็บเกี่ยวข้าวโดยใช้ “แกระ” เครื่องมือเก็บเกี่ยวรวงข้าวมาตั้งแต่สมัยโบราณใช้เก็บเกี่ยว พร้อมใช้ชื่อกิจกรรมครั้งนี้ว่า “เก็บข้าวนาเล เสน่ห์นาดอน” ซึ่งผู้เก็บเกี่ยวแต่ละรายที่ร่วมลงแปลงนาข้าวในวันนี้ก็ต่างสนุกสนาน ที่ได้ร่วมกับการทำกิจกรรม.
Discussion about this post