ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 11.00 น.วันที่19 เม.ย.66 ที่บริเวณลานวัดท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผวจ.พัทลุง นางพิชญ์สินี ทัศน์นิยม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช และนายธธงชัย สารอักษร วัฒน ธรรมจังหวัดพัทลุง และนายเกรียงเดช ขำณรงค์ ตัวแทนศิลปินมโนราห์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวงาน“โนราโรงครู” การจัดงานแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สืบสานศิลป์ถิ่นโนราของจังหวัดพัทลุงให้คงอยู่คู่คนพัทลุงต่อไป สำหรับปีนี้จัดยิ่งใหญ่ 3 สถานที่ 3 อำเภอ เชิญชวนเที่ยวงานโนราโรงครู พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่สืบ ทอดจากรุ่นปู่ย่าตายาย สถานที่แรกคือพิธีกรรมโนราโรงครูวัดเขียนบางแก้ว ซึ่งจัดกิจกรรมในระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน 2566 ณ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน สถานที่ 2 คือ พิธีกรรมโนราโรงครูท่าแค ซึ่งจัดกิจกรรมในระหว่างวันที่ 3 – 6 พฤษภาคม 2566 ณ วัดท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง และ สถานที่ 3 คือ พิธีกรรมโนราโรงครูเชิดชูขุนอุปถัมภ์นรากร(พุ่มเทวา) ซึ่งจัดกิจกรรมในระหว่างวันที่ 10 –12 พฤษภาคม 2566 ณ วัดพิกุลทอง ตำบลชะมวง อำเภอควนขนุน ภายในงานแต่ละแห่งจะมีมโนราห์ชื่อดังหลายคณะของจังหวัดพัทลุงร่วมแสดงพิธี กรรมโนราโรงครู และที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดให้ความสนใจเข้าร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก
โนราโรงครู หรือ มโนราห์โรงครู เป็นการแสดงโนราห์เพื่อประกอบพิธีกรรม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการเคารพบูชา และแสดงความกตัญญูต่อวิญญาณบรรพ บุรุษโนราห์ เพื่อแก้บนหรือ คนภาคใต้เรียกว่า การ “แก้เหมรย” เริ่มจากการทำพิธีครอบครูโนราห์ และพิธีกรรมต่างๆของโนราห์โรงครูที่เชื่อว่าสามารถรักษาโรค หรืออาการบางอย่างได้ เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ความศรัทธาของผู้ที่มีเชื้อสายมโนราห์ ส่วนใหญ่จะเห็นการประกอบพิธีดังกล่าว ในพื้นที่ของ จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง และ สงขลา เป็นความเชื่อ ความศรัทธาที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
และโนราห์โรงครูที่วัดท่าแคแห่งนี้ ชาวบ้านมักรู้จักกันในนามของ “โรงครูพ่อขุนศรีศรัทธา” ถือเป็นโรงครูใหญ่ และเป็นสถานที่ ที่ขุนศรีศรัทธา เคยฝึกสอนการรำมโนราห์ให้แก่ศิษย์ไว้มากมาย และเป็นที่พำนักของครูหมอโนราห์ วัดท่าแค จึงนับได้ว่าที่นี่คือต้นกำเนิดของ “โนราห์โรงครู” ของจังหวัดพัทลุง การจัดงานในครั้งนี้ ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง ร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุง สภาวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง สำนักงานเทศบาลตำบลท่าแค ผู้นำท้องถิ่น และ เครือข่ายวัฒนธรรม ได้ร่วมกันดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิงศาสนา และวัฒนธรรม สืบสานศิลป์ถิ่นโนราห์ของจังหวัดพัทลุง ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนทั่วโลก.
Discussion about this post