วันที่ 13 ก.พ. 66 ที่วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 โดยมี นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รอง ผวจ.สกลนคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสถานศึกษา อาจารย์ นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีเปิดห้องเรียนพิเศษของวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร
ได้แก่ 1.ห้องเรียน Excellent สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ 2.ห้องเรียนนวัตกรรม สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ 3.ห้องเรียนชไนเดอร์ สาขาวิชาลิฟต์และระบบงานอาคารสูง และ 4.ห้องเรียนภาษาต่างประเทศธุรกิจ สาขาวิชาภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นการพัฒนาด้านการจัดการศึกษาภายใต้รูปแบบการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ “Sakonnakhon Model” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ยังได้ติดตามการดำเนินงานของสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 และสถานศึกษาในสังกัด ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต ทั้งยังตอบสนองต่อนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนวิสัยทัศน์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าด้วยการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ซึ่งได้มีสถานศึกษาต่าง ๆ ได้นำผลงานการดำเนินงานด้านการจัดการเรียนรู้มาร่วมจัดแสดงยังหอประชุมห้วยทราย 3 วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคนครพนม วิทยาลัยเทคนิคบ้านแพง วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร และวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษานั่นคือ “ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อพัฒนาประเทศ” โดย “กำลังคนสมรรถนะสูง” หมายถึง แรงงานที่มีความรู้ มีทักษะต่อการปฏิบัติและรับผิดชอบงาน ซึ่งมีทักษะระดับ 4 ตามเกณฑ์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยต้องมีคุณสมบัติคือ สามารถปฏิบัติงาน วิเคราะห์ แก้ไขปัญหา วางแผนการทำงานและพัฒนางานที่รับผิดชอบให้ดีขึ้นควบคู่กับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเหมาะสม มีทักษะในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารด้วยการพูดและการเขียนอย่างเหมาะสม เข้าใจข้อมูล เอกสารที่มีความซับซ้อน และเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่รับผิดชอบได้
การที่สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 และสถานศึกษาในสังกัดมีการพัฒนาโมเดลการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง “สกลนครโมเดล” ขึ้นมานั้น เป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และพัฒนาผู้เรียนให้เป็นกำลังคนอาชีวศึกษาคุณภาพสูง ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพในยุคปัจจุบัน นับเป็นความมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้นสู่ระดับสากล สามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนและพัฒนามาตรฐานการศึกษาและควรค่าแก่การนำไปเผยแพร่ขยายผลสู่สถาบัน และสถานศึกษาอื่น เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อไป พร้อมเชิญชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาศึกษาในสถาบันการอาชีวศึกษาซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ นักศึกษาที่จบออกไปจะเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศชาติ มีงานทำแน่นอน โดยสามารถทำงานทั้งในส่วนของราชการ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน หรือทำธุรกิจส่วนตัว
หลังจากนั้น เลขาธิการ สอศ. รับการต้อนรับ 3 ภาษาจากตัวแทนนักศึกษา การต้อนรับจาก นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และรับฟังการดำเนินงานของสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 โดยมีนายสถิต สำราญสุข ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งได้อธิบายถึงโมเดลการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันประเทศ “สกลนครโมเดล” ซึ่งได้กล่าวถึงรายละเอียดในการดำเนินงานตามโมเดลข้างต้นว่า การจัดการเรียนรู้ของสถาบันฯ เริ่มต้นจากส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจตนเองตามหลักการ “Born To Be” คือ ให้ผู้เรียนเลือกสาขาวิชาที่ตนเองสนใจหรือชื่นชอบ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ได้ดีมีประสิทธิภาพ เมื่อผู้เรียนทำได้ดีในการศึกษาที่ตนเองชอบก็จะสามารถนำเอาความรู้ที่มีไปใช้ในการสร้างรายได้เลี้ยงชีพ และครอบครัวได้ ทั้งยังเป็นที่ต้องการของสังคมด้วย
ขั้นตอนถัดไปสถาบันฯ ฉ.2 ได้มีการวางแผนที่จะจัด Type ของผู้เรียนเป็น 3 กลุ่ม โดยอาศัยแนวทางการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ได้แก่ Type A : Engineer, Type B : Technologist และ Type C : Technical เพื่อสร้างกำลังคนให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่ตลาดแรงงานและสถานประกอบการต้องการ นั่นคือ กำลังคนที่เพื่อทดแทนตำแหน่งปัจจุบัน กำลังคนเพื่อให้สามรถให้งานตนเอง และกำลังคนเพื่อให้เป็นนวัตกรที่สามารถสร้างตำแหน่งงานใหม่ให้กับตนเอง เมื่อแบ่งผู้เรียนได้ตามความเหมาะสมแก่บุคคลแล้วก็ส่งผู้เรียนเข้าสู่ระบบการศึกษาภายใต้รูปแบบการจัดการศึกษา “สกลนครโมเดล” ซึ่งประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 3 เงื่อนไข 15 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ 5 ทันสมัย คือ หลักสูตรทันสมัย ห้องเรียนทันสมัย สื่อ/เครื่องมือ คุรุภัณฑ์ทันสมัย เทคโนโลยีทันสมัย เครือข่ายความร่วมมือทันสมัย 5 ทักษะ คือ ทักษะวิชาชีพ/อาชีพ ทักษะการสื่อสาร ทักษะดิจิทัล ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ 5 มาตรฐาน คือ มาตรฐานฝีมือแรงงาน มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ มาตรฐานอาชีวศึกษา มาตรฐานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มาตรฐานสากล ซึ่งผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาภายใต้รูปแบบการศึกษานี้ก็จะถูกยกระดับให้เป็นกำลังคนอาชีวศึกษากำลังสูงตามวิสัยทัศน์ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทั้งยังสอดคล้องตามนโนบายและจุดเน้นของกรทรวงศึกษาธิการ และนโยบายการปฏิบัติราชการ
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ภายใต้วิสัยทัศน์ “ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อพัฒนาประเทศ” โดยมีจุดเน้นเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษา สู่การพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย ตลอดจนการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 และพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลายสู่การเป็นกำลังคนสมรรถนะสูงด้วยนอกจากนี้ เลขาธิการ สอศ. ยังได้มอบประกาศนียบัตรให้แก่นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนานาชาติ B-TEC สาขาวิชาภาษาต่างประเทศธุรกิจ รุ่นที่ 1 จำนวน 22 คน รุ่นที่ 2 จำนวน 4 คน และสาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล รุ่นที่ 1 จำนวน 23 คน และมอบหนังสือซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด แก่ผู้บริหารสถานศึกษาทั้ง 45 แห่งด้วย
////////////// วัฒนะ แก้วก่า/สกลนคร 0819541528
Discussion about this post