สื่อข่าวจังหวัดพัทลุงรายงานว่า จากกรณีที่ชาวมันนิ จำนวน 2 ราย ประกอบด้วยนายแว้ง (สงวนนามสกุล) อายุ 17 ปี และนายทง (สงวนนามสกุล) อายุ 38 ปี ทั้ง 2 คน มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 140 หมู่ที่ 1 ต.คลองทรายขาว อ.กงหรา ได้หายตัวไปเมื่อตอนสายวันที่ 29 ธันวาคม2565 ขณะมาปลูกทับ(ที่อยู่ชาวมันนิ) ณ บริเวณน้ำเตกไพรวัลย์ ม.13 ต.คลองเฉลิม อ.กงหรา ต่อมาทางนายสมควร ปล้องอ่อน นายอำเภอกงหรา ฝ่ายปกครอง จนท. ป่าไม้ กลุ่มพรานป่า จนท.กู้ภัยมูลนิธิพัทลุงการกุศล ตชด.434 พัทลุง และ จนท.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา ได้เดินทางเป็นระยะทางประมาณ 4-5 กิโลเมตร เพื่อตามหาร่าง 2 มันนิผู้สูญหายบริเวณเขาเฉลิม ท้องที่ ม.5 ต.คลองเฉลิม อ.กงหรา และล่าสุดเมื่อตอนบ่ายวันที่ 6 มกราคม 2566 ก็ได้พบร่างผู้เสียชีวิตอยู่ในโพรงหินที่มีความลึกประมาณ 30 เมตร ที่ไม่สามารถนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาได้ จึงได้ยุติการนำร่างผู้เสียชีวิตออกมา
ล่าสุดเมื่อสายของวันที่ 7 ม.ค.นี้ กลุ่มชาวมันนิชาย – หญิง และเด็กเล็กเล็ก จำนวน 32 คน ภายใต้การนำของนายโด รักษ์กงหรา (กำนัน) และนายนัด รักษ์กงหรา (ผู้ใหญ่บ้าน) ได้เดินเท้าลงมาจากทับใกล้ๆน้ำตกไพรวัลย์ มารวมตัวที่บ้านพักของนางอุไร เสนาทิพย์ อายุ 50 ปี ราษฎรหมู่ที่ 13ต.คลองเฉลิม อ.กงหรา โดยนางอุไรฯได้อนุเคราะห์รถกระบะ 1 คัน และพลเมืองดีได้อนุเคราะห์รถกระบะอีก 2 คัน รวม 3 คัน ในการอพยพกลุ่มชาวมันนิไปยังบริเวณน้ำตกนกลำ ท้องที่ ม.1 ต.คลองทรายขาว อ.กงหรา โดยมีนายส่อแหละ โสดสลาม สท.เทศบาลตำบลคลองทรายขาว ผู้ที่ให้การดูแลกลุ่มมันนิและเป็นที่เคารพนับถือ ใกล้ชิดกับกลุ่มมันนิ เป็นผู้รับผิดชอบในการเคลื่อนย้ายกลุ่มมันนิ โดยมีระยะทางประมาณ 8 กิโล เมตร จากนั้นกลุ่มมันนิได้เดินเท้าจากถนนภายในหมู่บ้านผ่านสวนยางทีมีน้ำขังไปยังน้ำตกนกลำประมาณ 2,500 กิโลเมตร อย่างไรก็ตามเมื่อไปถึงบริเวณที่ตั้งทับ(ที่พักอาศัย) ชาวมันนิก็ได้แยกย้ายกันหาเศษไม้ ใบไม้มาร่วมกันสร้างทับของแต่ละครอบ ครัว
ทางด้านนายส่อแหละฯ เผยว่า ในขณะนี้กลุ่มมันนิฯดังกล่าว มีข้าว สาร อาหารแห้ง ที่ได้รับการบริจาคจากพระ ชาวบ้านในส่วนหนึ่งแล้ว อีกส่วนหนึ่งพวกเขาก็จะหาอาหารจากในป่ามากินกันเองตามวิถีชีวิตชาวมันนิ สำหรับในวันนี้(ที่ 7) ตนติดประชุมกับชาวบ้าน หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมตนจะได้เดินเท้าขึ้นไปดูแลกลุ่มมันนิดังกล่าวว่าสภาพการสร้างทับเป็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากกลุ่มมันนิดังกล่าวมีความสนิทกับตนมานานแล้ว และตนพร้อมเพื่อนบ้านก็ได้ให้การดูแลกลุ่มมันนิดังกล่าวมาโดยตลอด สำหรับที่พักของกลุ่มมันนิในครั้งนี้อยู่ห่างจากน้ำ ตกนกลำประมาณ 1,500 เมตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประเพณีของกลุ่มมันนิ หรือเงาะป่าซาไก เมื่อสมาชิกภายในกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ ได้เสียชีวิตลง สมาชิกที่เหลือทั้งหมดจะต้องย้ายที่อยู่อาศัย ไปสร้างที่พักแห่งใหม่ทันที และได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน.
Discussion about this post