เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้าน ประจำปี 2565 ของเทศบาลตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาที่ผ่านมา โดยนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงาน ที่ลานหน้าอาคารอุทยานประวัติศาสตร์วัฒน ธรรมผู้ไท เทศบาลตำบล (ทต.) กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์, นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ. กาฬสินธุ์, นายวีรดนย์ ศิริ นายอำเภอกุฉินารายณ์, นายแสวง อุทรักษ์ นายก ทต.กุดหว้า, นายธนเสฏฐ์ ชัยสงครามธนทัต นายก ทม.บัวขาว, นายภิรมย์ อุทรักษ์ นายก อบต.นาไคร้ พร้อมด้วยส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศกว่า 3 หมื่นคนร่วมงาน ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19
นอกจากนี้นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติและคณะกรรมการจัดงาน เดินนำขบวนนางรำ รำบวงสรวงพญาแถน และริ้วขบวนแห่บั้งไฟตะไลล้าน โดยมีประชาชน เยาวชน จากสถานศึกษาในพื้นที่ ต.กุดหว้า จำนวน 10 ขบวน ระยะทางยาว 3 กิโลเมตร ที่ประกอบด้วยขบวนวิถีชุมชน แสดงอัตลักษณ์ของชาวภูไทกุดหว้า ที่สืบสานมาหลายชั่วอายุ, ขบวนเศรษฐกิจพอเพียง, ขบวนการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน, ขบวนผลิตภัณฑ์และของดีประจำถิ่น, ขบวนเกี่ยวกับประวัติงานบุญบั้งไฟ เช่น ขบวนผาแดงนางไอ่ ขบวนท้าวภังคี ขบวนพญานาค และขบวนแห่กองบุญ
อย่างไรก็ตามบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก ประชาชน นักท่องเที่ยว ให้ความสนใจและตื่นตัวมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก สำหรับไฮไลต์ของงาน โฟกัสไปที่การจุดบั้งไฟตะไลล้าน และบั้งไฟ“ตะไลสิบล้าน” น้ำหนักกว่า 2 ตัน ซึ่งถูกจุดขึ้นควงสว่านทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าสูงลิบลับไม่ต่างกับกระสวยอวกาศ ก่อนจะกางร่มชูชีพร่อนลงมาอย่างสวยงามน่าอัศจรรย์เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ที่บริเวณทุ่งกว้างด้านหลังวัดกกต้อง เป็นฐานสำหรับจุดบั้งไฟตะไลดังกล่าว
นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้าน ที่เทศบาลตำบลกุดหว้าจัดขึ้น ถือเป็นแห่งเดียวในโลก ที่มีการจุดบั้งตะไลที่มีขนาดใหญ่ให้พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า และกางร่มชูชีพร่อนลงมาอย่างสวยงาม นับเป็นนวัตกรรมจากภูมิปัญญาชาวภูไทกุดหว้า ที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยมีการพัฒนารูปแบบและจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อสืบสานประเพณีขอฝนหรือบูชาพญาแถน ซึ่งเป็นเทพยดาแห่งฝน กำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือน 6 ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวภูไทกุดหว้าและเกษตรก รชาวอีสาน ทั้งนี้ประเพณีวัฒน ธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้านที่จัดขึ้นครั้งนี้ ยังถือว่าเป็นการเปิดเมืองกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย ภายหลังว่างเว้นการจัดงานมา 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิดดังกล่าว
ด้านนายวีรดนย์ ศิริ นายอำเภอกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้านในครั้งนี้ ถือเป็นงานบุญบั้งไฟนิวนอร์มอล ขอให้ประชา ชน นักท่องเที่ยว ที่มาร่วมงาน มีความมั่นใจในความสะดวก ปลอดภัย ทั้งในส่วนของการจราจร การรักษาความปลอดภัย และปลอดภัยจากโรคติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สาธารณสุข คอยอำนวยความสะดวก และตั้งจุดคัดกรองอย่างเคร่งครัด ซึ่งการจัดงานครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่า สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดการฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังจะเป็นบรรทัดฐาน ให้มีการจัดงานตามประเพณีต่างๆตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19
ขณะที่นายแสวง อุทรักษ นายก ทต. กุดหว้า กล่าวว่า การจัดงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้าน ปีนี้ ได้รับการตอบรับจากประชาชน นักท่องเที่ยวเกินความคาดหมายเนื่อง จากที่พักทั้งในรูปแบบของโฮมสเตย์ รีสอร์ท เรือนรับรอง โรงแรมในพื้นที่ถูกจองเต็ม ทั้งนี้ จากการสอบถามทราบว่าอยากจะมาชื่นชมความอัศจรรย์ของบั้งไฟตะไลแสนตะไลล้าน พุ่งทะทานขึ้นฟ้า ซึ่งได้เริ่มจุดตั้งแต่ช่วงเช้า โดยจะมีบั้งไฟตะไลแสน จุดแข่งขัน จำนวน 52 บั้ง, บั้งไฟตะไล 2 ล้านจำนวน 2 บั้ง และบั้งไฟตะไล 10 ล้านจำนวน 1 บั้ง
สำหรับความโดดเด่นของบั้งไฟของชาว ต.กุดหว้า จะแตกต่างจากพื้นที่อื่นของอีสาน เพราะตามปกติบั้งไฟจะทำเป็นรูปทรงกระบอก ซึ่งเรียกว่าบั้งไฟหาง จุดชนวนดินปืนตรงส่วนท้ายเพื่อให้บั้งไฟพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่บั้งไฟตะไลของชาว ต.กุดหว้า จะเป็นทรงวงกลมคล้ายล้อเกวียน ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าให้แบน เรียกว่า “กง” ซึ่งมีหน้าที่บังคับบั้งไฟ จุดชนวนจากกลางลำ โดยจะเจาะรูเชื้อเพลิงให้ออกด้านข้างลำตัวของบั้งไฟ ทำให้บั้งไฟหมุนในลักษณะเป็นเกลียวเหมือนควงสว่านขึ้นท้องฟ้าอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะกางร่มชูชีพลงมาอย่างสวยงาม ทั้งนี้ ด้วยความพิเศษของบั้งไฟตะไลล้านกุดหว้า ยังมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติมาชื่นชม ทึ่งในภูมิปัญญาชาวภูไทกุดหว้า และดูขบวนการประดิษฐ์บั้งไฟ พร้อมขอสูตรไปผลิตบั้งไฟตะไลที่ต่างประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ บั้งไฟตะไลแสน ขนาดปากกระบอกกว้าง 4 นิ้ว ยาว 3 เมตร น้ำหนัก 250 กิโลกรัม, บั้งไฟตะไลล้าน ขนาดปากกระบอกกว้าง 5 นิ้วครึ่ง ยาว 6 เมตร น้ำหนัก 750 กิโลกรัม, บั้งไฟตะไลสองล้าน ขนาดปากกระ บอกกว้าง 6 นิ้วครึ่ง ยาว 6 เมตร น้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม และบั้งไฟตะไลสิบล้าน ขนาดปากกระบอกกว้าง 8 นิ้วครึ่ง ยาว 6 เมตร น้ำหนัก 2,000 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ด้วยนวัตกรรรมจากภูมิปัญญาที่มีการพัฒนาตามยุคสมัย ถึงแม้บั้งไฟตะไลแต่ละขนาดจะมีน้ำหนักมาก แต่ก็สามารถเหิรทะยานขึ้นท้องฟ้าได้สูงลิบลิ่ว และกางร่มชูชีพร่อนลงมาอย่างสวยงามและปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม สำหรับบรรยากาศในการจุดบั้งไฟตะไลแสน บั้งไฟตะไลล้าน และไฮไลต์ในงานคือบั้งไฟตะไลสิบล้านนั้น เป็นไปอย่างคึกคัก ตื่นเต้น เร้าใจ น่าทึ่ง อัศจรรย์ใจ โดยทุกบั้งเมื่อถูกจุดชนวน จะค่อยๆหมุนตัวเหมือนเกลียว แล้วเร่งความเร็วและยกตัวลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ในลักษณะควงสว่านในแนวตรงสูงลิบ จนผู้ชมต้องแหงนคอตั้งบ่า ก่อนที่บั้งไฟตะไลที่หมดเชื้อเพลิงจะกางร่มชูชีพร่อนลงมาอย่างสวยงามและปลอดภัย ท่ามกลางเสียงปรบมือและเสียงโห่ร้องด้วยความชื่นชมของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงาน ซึ่งทุกคนต่างบันทึกภาพ และแชร์ในโลกโซเชียล พร้อมเก็บความประทับใจกลับไป และสัญญาว่าจะกลับมาเที่ยวงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้านอีกอย่างแน่นอนในปีหน้า.
Discussion about this post