นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ มอบหมายให้คณะทำงานกำกับติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ จังหวัดแพร่ โดยมี นางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน นางอารีย์ เหลืองหิรัญ พาณิชย์จังหวัดแพร่ เป็นคณะทำงานและเลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 15 ราย เป็นคณะทำงาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการในพื้นที่ของจังหวัดแพร่ และ กำกับดูแล ตรวจสอบ ปริมาณ สถานที่เก็บ การจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร ติดตามให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย หลังจากที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดให้ผู้เลี้ยงสุกร ตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป และผู้ครอบครองหรือห้องเย็นที่มีสต๊อกสุกรชำแหละ ตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป แจ้งปริมาณ และราคาทุก 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภคโดยการจำหน่ายสินค้าในราคาสูงเกินสมควรหรือการกักตุนสินค้า และดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนและการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
จากการตรวจสอบปริมาณสุกรชำแหละในจังหวัดแพร่ จำนวน 5 ราย พบว่าเป็นห้องเย็นขนาดเล็ก ขนาดความจุ 1 – 5 ตัน/วัน โดยจะมีสต๊อกเข้าออกทุกวัน มีทั้งการจำหน่ายปลีกและส่งกระจายไปแต่ละสาขา รวมทั้งมีการรับส่งเนื้อสุกรตามคำสั่งซื้อ เนื้อสุกรจะมีการจำหน่ายหมุนเวียนทุกวันเพื่อรักษาคุณภาพ สำหรับราคามีการปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาเล็กน้อย เฉลี่ย 2.5 บาท/กก. โดยราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดง ส่วนสะโพก ไหล่ ไม่รวมหมูเนื้อแดงปรุงแต่ง ราคาในตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 190 – 200 บาท ราคาในห้างสรรพสินค้าอยู่ที่กิโลกรัมละ 169-178 บาท ราคาใน Shop อยู่ที่กิโลกรัมละ 165-193 บาท และสุกรมีชีวิต อยู่ที่กิโลกรัมละ 96 – 109 บาท
จังหวัดแพร่มีปริมาณสต๊อกสุกรชำแหละที่แจ้งตามประกาศ กกร. ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 มีปริมาณรวม 2,275.84 ตัน และปริมาณสุกรมีชีวิต รวม 33,045 ตัว (แยกเป็น สุกรพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ จำนวน 707 ตัว ลูกสุกร จำนวน 11,317 ตัว สุกรขุนเกิน 30-60 กก./ตัว จำนวน 8,837 ตัว สุกรขุนเกิน 61-80 กก./ตัว จำนวน 5,369 ตัว และสุกรขุนเกิน 80 กก./ตัวขึ้นไป จำนวน 6,815 ตัว) ซึ่งเนื้อสุกร มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในจังหวัดแพร่
ธีรพงษ์ ธงออน/แพร่
Discussion about this post