วันพุธที่ 1 ธ.ค. 2564 นายสมเกียรติ พูลสุขเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดตัว “วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ต.บ้านแยง” ที่ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ภายใต้โครงการหมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ภายในงานมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ ที่กรมการค้าภายในเข้ามาช่วยส่งเสริมพัฒนา เพื่อเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรด เป็นน้ำสับปะรดสกัดเย็นผสมสมุนไพรพร้อมดื่ม แบรนด์ “TP Fresh” เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มผู้รักสุขภาพ
นางอุบลรัตน์ ศิลตระกูล พาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศโดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง ด้วยการสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชน โครงการหมู่บ้านทำมาค้าขาย โดยกรมการค้าภายใน ได้เล็งเห็นศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชนแห่งนี้ จึงได้เข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้เข้าร่วมโครงการ โดยการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรดเป็นน้ำสับปะรดสกัดเย็นผสมสมุนไพรพร้อมดื่ม แบรนด์ “TP Fresh”
“วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ต.บ้านแยง” เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด บ้านถ้ำพริก ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีพื้นที่ในการปลูกสับปะรดรวมกัน 315 ไร่ ที่สร้างรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ด้วยการจำหน่ายสับปะรดผลสด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรด เช่น สับปะรดเคี้ยวหนึบ น้ำสับปะรดพร้อมดื่ม ผงหมักเนื้อนุ่ม ชาสับปะรด และชีสพายสับปะรด ที่เป็นสินค้าขายดี มีกำลังการผลิตถึงวันละ 2,000 ชิ้นหัวใจสำคัญของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ คือสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียที่มีรสชาติดีเนื่องจากเป็นการปลูกที่ความสูง จากระดับน้ำทะเลประมาณ 500 เมตร เป็นความสูงที่เหมาะสมกับการปลูกสับปะรด มีโปแตสเซียมในดินสูง จึงทำให้มีรสชาติ ที่หอมหวาน ไม่กัดลิ้นเมื่อรับประทาน แตกต่างจากการปลูกในแหล่งอื่น และได้มาตรฐาน Good Agriculture Practices (GAP) ซึ่งเป็นแนวทางในการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ได้ผลผลิตสูง คุ้มค่า การลงทุน และกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังมีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ด้วยแนวคิดแบบ Value Chain(ห่วงโซ่คุณค่าทางการตลาด) โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และมีการ สร้างห้องเก็บผลผลิตตามมาตรฐาน “GAP” โครงการหมู่บ้านทำมาค้าขาย เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีสมาชิกเป็นเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน เพื่อให้การประกอบธุรกิจมีประสิทธิภาพ สามารถดำรงธุรกิจของชุมชนได้อย่างมั่นคง ชุมชนเติบโตขึ้น อย่างแข็งแรง อยู่ดีกินดี มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเอง และลดการย้ายถิ่นฐานจากชุมชนเข้าสู่เมือง โดยมีวิสาหกิจชุมชนร่วมโครงการแล้วจำนวน 25 แห่ง
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรมการค้าภายใน ได้ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเป็น “หมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่” จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ต.บ้านแยง จังหวัดพิษณุโลก วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมล้านนาสันปูเลย จังหวัดพะเยา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านบ่อหลวง จังหวัดน่าน วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ทำมือบ้านจงเจริญ จังหวัดเชียงราย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาป่าหนาด จังหวัดเลย วิสาหกิจชุมชนศูนย์ทำร่ม บ่อสร้าง จังหวัดเชียงใหม่ และวิสาหกิจชุมชนบ้านสหกรณ์ หมู่ที่ 3 ตำบลโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร โดยทุกที่มีความพร้อม ที่ก้าวไปสู่เป้าหมายของ “หมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่” ที่ประสบผลสำเร็จและเป็นแรงสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน .
ด้านนายอนุศักดิ์ ธรรมาธิวัฒน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ต.บ้านแยง เปิดเผยว่า การรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชนบ้านแยง เกิดจากความเลื่อมล่ำทางการตลาด ของราคาสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ที่ชาวบ้านแยง ส่วนใหญ่ไว้ และต้องส่งโรงงานที่ จ.ประจวบฯ แต่หลังจากหลายภาคส่วนมาส่งเสริมการแปรรูป ทั้งน้ำไปทำน้ำสกัดเย็น สับปะรดเคี้ยวหนึบ น้ำสับปะรดพร้อมดื่ม ผงหมักเนื้อนุ่ม ชาสับปะรด และชีสพายสับปะรด เป็นต้น ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีรายได้มากยิ่งขึ้น และไม่ต้องรอราคาจากโรงงานเหมือนแต่ก่อนอย่างใด ซึ่งอนาคตกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ต.บ้านแยงก็จะมีการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชนต่อไป เพื่อให้ประชาชนมีรายได้และสร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชนอีกด้วย.
Discussion about this post