ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นางปิณฑิรา เก่งการพานิช นายอำเภอพนมสารคาม เป็นประธานเปิดโครงการตามรอยพระราชา “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 13” 9 มหามงคล ตามรอยพ่อ ศึกษาเรียนรู้ป่าหาย น้ำแห้ง ดินเลว สู่วิถีพอเพียง ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูอาจารย์ที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ร่วมถอดรหัสพระอัจฉริยภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs)
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับองค์กรภาคีต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมทางด้านการศึกษา มาตั้งแต่ปี 2561 โดยการนำคณะครูอาจารย์จากทั่วประเทศรวมแล้วกว่า 300 คนจากกว่า 170 สถาบัน ร่วมโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ในรูปแบบ Edutainment เพราะทุกที่คือการเรียนรู้ ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ผสมผสานการท่องเที่ยววิถีชุมชน รวมถึงกิจกรรมเวิร์กชอป ผ่านนวัตกรรมบอร์ดเกมที่จะทำให้คณะครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา สามารถนำไปสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้วิถีใหม่ในสถาบันการศึกษา ชุมชน และครอบครัวได้ด้วยตนเอง เพื่อเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
โดยกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 13” 9 มหามงคล ตามรอยพ่อ ศึกษาเรียนรู้ป่าหาย น้ำแห้ง ดินเลว สู่วิถีพอเพียง ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งครั้งสำคัญในการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกของประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้จัดขึ้นเพื่อพลิกฟื้นผืนแผ่นดิน ซึ่งมีสภาพป่าหาย น้ำแห้ง ดินเลว ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุอาหาร และวัตถุอินทรีย์จากพืช เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม ศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ทางการเกษตรให้เป็นศูนย์ด้านเกษตรกรรมที่สมบูรณ์ด้วยวิธีการเกษตรแผนใหม่ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาที่ดิน การวางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต และเป็นศูนย์รวมการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ ถือเป็นต้นแบบแนวทางและตัวอย่างการพัฒนาให้แก่พื้นที่อื่นได้อย่างยั่งยืน ศูนย์แห่งนี้ยังได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประจำปี 2545 รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประจำปี 2547 รางวัลยอดเยี่ยมประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร.
Discussion about this post