เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จากการติดตามอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ซึ่งพื้นที่พื้นที่ต้นน้ำ ทำให้พื้นที่หลายจังหวัดท้ายน้ำ และมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำชีต้องเตรียมรับมวลน้ำที่จะไหลมา
ล่าสุดที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอฆ้องชัย นายอำเภอร่องคำ นายอำเภอกมลาไสย ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและมักจะประสบปัญหาน้ำท่วม ร่วมกันวางแผนรองรับมวลน้ำที่ไหลมาจากลำน้ำชี ซึ่งต้นสายอยู่ในจังหวัดชัยภูมิ ที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม จากพายุเตี้ยนหมู่ และมวลน้ำจะไหลผ่านเข้าสู่ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำของเขื่อนลำปาว เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในปี 2565
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาวของ จ.กาฬสินธุ์ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากเดิมมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ แต่หลังจากมีพายุเตี้ยนหมู่เข้ามา ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวมีเพิ่มมากขึ้นเป็น 950 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 48 จากความจุ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่ามีปริมาณมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าหมดฤดูฝนน้ำในเขื่อนลำปาวจะมีปริมาณน้ำเกิน 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอต่อการวางแผนการบริหารจัดการน้ำไปสู่ประชาชนโดยเฉพาะภาคการเกษตร การเลี้ยงปลา
นอกจากนี้ในส่วนของมวลน้ำของลำน้ำชี ที่ไหลจาก จ.ชัยภูมิจะผ่าน จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคามและผ่านพื้นที่ อำเภอฆ้องชัย อำเภอร่องคำ และอำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ โดยขณะนี้คาดว่ามวลน้ำอยู่ที่อำเภอชนบท จ.ขอนแก่น ซึ่งอยู่ในระดับที่สูง อีกไม่กี่วันมวลน้ำจะเข้าสู่พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ใน 3 อำเภอ โดยอำเภอฆ้องชัย และอำเภอกมลาไสย มีพนังกั้นน้ำ ป้องกันการไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและแปลงนาของประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำชี ยกเว้นอำเภอร่องคำที่ไม่พนังกั้นน้ำ ซึ่งต้องมีความระมัดระวังน้ำไหลเข้าท่วม
อย่างไรก็ตาม จ.กาฬสินธุ์ได้ออกประกาศเตือนไปยังประชาชนให้ระมัดระวัง เตรียมพร้อมสำหรับการไหลของมวลน้ำ ผ่านลำน้ำชีในครั้งนี้ โดยในที่ประชุมได้มีการหารือ ในการก่อสร้างพนังกั้นน้ำ ที่อำเภอร่องคำเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป.
Discussion about this post